5 แนวสร้างงานในฝันให้พนักงานในองค์กร
ไม่ว่าใครๆ ก็คงอยากทำงานในฝันกันทั้งนั้น งานที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า เติมเต็มความต้องการที่อยากทำ ความพอใจในงาน รวมถึงความสุขที่มีในระหว่างการทำงานด้วย แต่ทั้งนี้หลายคนต่างก็อาจจะมีข้อกังขาว่างานในฝันแบบที่ว่ามานั้นจะมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ในเมื่องานก็คืองาน การที่จะทำให้งานเป็นเรื่องเดียวกันกับความสุขอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ในหลายสถานการณ์พนักงานเองอาจไม่มีสิทธิจะได้เลือกมากนัก (นอกจากจะเลือกเปลี่ยนงานไปเลย) ทำให้สิทธิในการกำหนดว่าพนักงานจะมีความสุขในการทำงานหรือไม่จึงตกไปอยู่ที่ตัวองค์กรมากกว่า ซึ่งยิ่งพนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ พนักงานก็จะเต็มใจที่จะทำงานด้วยความกระตือรือร้น มีประสิทธิภาพ และเป็นการพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับองค์กร ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าในฐานะหัวหน้าแล้ว เราจะสร้างงานในฝันให้กับพนักงานขึ้นมาได้อย่างไร
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ค้นพบว่าหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าก็คือ ความสามารถที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิต แม้ว่าความท้าทายนั้นจะเป็นความยากจนน่าปวดหัวก็ตาม ถ้านึกภาพไม่ออกอยากให้ลองเปรียบเทียบระหว่างการทำงานกับการเล่นเกม ที่ในขณะที่เราเล่นนั้น ไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้ก็ตาม เราก็จะยังได้โอกาสที่จะเก็บสั่งสมประสบการณ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และระหว่างนั้นเราก็จะได้มีโอกาสได้เจอกับความยากและซับซ้อนในด่านต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้คนก็จะรู้สึกดีขึ้นกับตัวเองเป็นอย่างมากเมื่อพวกเขาได้เอาชนะและผ่านด่านไปเรื่อยๆ แม้ว่าแต่ละด่านจะยากขึ้นก็ตาม
การทำงานก็เช่นเดียวกัน แม้หลายคนจะบ่นว่าไม่อยากทำงานยาก แต่ลึกๆ แล้วแต่ละคนนั้นก็คงไม่ชอบงานที่ง่ายๆ และซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกๆ วันอย่างแน่นอน ดังนั้นการเพิ่มระดับความท้าทายของงานให้เพิ่มตามประสบการณ์ที่สั่งสมของพนักงานคนนั้น ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและสนุกไปกับงานที่ได้รับมอบหมายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูศักยภาพของพนักงานคนนั้นๆ ก่อนด้วยว่ามีความรู้และความสามารถเพียงพอหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจเป็นการกดดันพนักงานจนเกินไปจนกลายเป็นความทุกข์ในการทำงานแทน
แน่นอนว่าถ้าเราต้องการหาช่างเครื่องที่มีฝีมือมาร่วมงาน เราคงไม่ไปตามหาคนที่มีความฝันว่าในอนาคตอยากเป็นเชฟ เพราะมันดูไม่เป็นเหตุเป็นผลเอาซะเลย กับงานในองค์กรก็เช่นกัน ถ้าหากเราไม่สามารถจับคู่ระหว่างความสามารถและความชอบของบุคลากรที่มีอยู่ให้เข้ากับรูปแบบของงานที่ต้องทำได้อย่างเหมาะสมแล้วนั้น เราก็ไม่สามารถจะคาดหวังได้ว่างานนั้นจะออกมาดีหรือมีประสิทธิภาพ
การจ้างคนที่จะสนุกกับงานที่ได้รับมอบหมายได้นั้นจึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารจะต้องตีให้แตกว่าควรทำอย่างไร เช่น ถ้าเราอยากได้พนักงานขาย ก็ควรมองหาคนที่ดูกระตือรือร้นในทันทีเมื่อได้ช่วยลูกค้านั้นตามหาสินค้าที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาของพวกเขา หรือถ้าเราอยากได้นักการตลาดนั้นก็ควรมองหาบุคคลที่หลงใหลในการมุ่งมั่นหาวิธีเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดอยู่ตลอด เป็นต้น เพราะเมื่อเราได้คนที่เหมาะกับงานแล้ว ความสุขของพนักงานในการทำงานก็จะตามมาเอง
สมัยนี้อาจจะยังมีผู้บริหารบางส่วนที่อาจจะยังรู้สึกลังเลเมื่อต้องส่งพนักงานไปเข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพ เนื่องจากการลงทุนด้านการพัฒนาทักษะความสามารถพนักงานนั้นมีต้นทุนที่สูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงอีกที่ว่าหลังจากลงทุนพัฒนาทักษะพนักงานไปมากๆ แล้ว พนักงานก็ยังอาจจะเลือกลาออกไปก็ได้ ซึ่งสุดท้ายผลก็จะออกมากลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลย แต่ทั้งนี้แล้ว การพัฒนาความสามารถพนักงานและให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ควรลงทุนเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตของพนักงานคนนั้นๆ ไม่ว่าเขาจะเลือกทำงานในบริษัทของเราหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ หากเราเลือกที่จะลงทุนกับพนักงานและสร้างปัจจัยในการทำงานที่ดีอื่นๆ ไว้จนทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้พนักงานเกิดความรักองค์กร และโอกาสที่พนักงานคนนั้นจะตัดสินใจลาออกจากองค์กรที่ช่วยพวกเขาพัฒนาศักยภาพก็อาจจะลดน้อยลงด้วย หรือหากสุดท้ายพนักงานเลือกที่จะลาออกหลังได้รับความรู้ที่มากเพียงพอแล้วจริงๆ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็จะจดจำบริษัทเราไปในทางที่ดี จนพร้อมที่จะปกป้องและรักษาชื่อเสียงขององค์กรหรือแบรนด์ได้อีกต่อไปในอนาคตด้วย
บ่อยครั้งที่เราเลื่อนตำแหน่งผู้บริหารให้กับพนักงานเนื่องจากพวกเขามีความสามารถในเฉพาะด้านที่พวกเขาทำ และเราก็มักคิดเอาเองว่าในเมื่อพวกเขามีความสามารถในด้านต่างๆ แล้วก็น่าจะมีความสามารถในด้านการบริหารผู้คนเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะทุกคนที่ถนัดในสายงานตัวเองก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีโอกาสเป็นผู้บริหารที่ดี แต่สิ่งที่เราต้องทำคือเราควรฝึกฝนพนักงานเหล่านั้นให้มีคุณสมบัติของผู้บริหารเสียก่อนแล้วจึงค่อยปรับตำแหน่งให้เหมาะสม นั่นเป็นเพราะถ้าหากพนักงานของเรานั้นมีหัวหน้าทีมหรือผู้บริหารที่ดี ที่เข้าใจ และคอยช่วยเหลือลูกน้องแล้ว พนักงานใต้บังคับบัญชาก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขได้เช่นกัน
ที่ทำงานอาจไม่เหมือนชีวิตสมัยเรียนที่เราอยากจะจับกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่มีลักษณะนิสัยได้ตามที่เราต้องการได้เสมอ แต่ในการทำงานนั้นพนักงานต่างก็ไม่สามารถเลือกทีมได้เอง ทำให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะคอยจัดการกับความแตกต่างและอุปนิสัยที่แตกต่างของแต่ละคนเพื่อทำให้เกิดความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ซึ่งความแตกต่างที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องของ เพศ เชื้อชาติ และที่มาที่ไปเท่านั้น แต่ยังเจาะลึกถึงลักษณะนิสัยของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากเรารับมือและจัดการกับความแตกต่างเหล่านี้ได้แล้ว พนักงานแต่ละคนก็จะสามารถทำงานได้ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง และเหมือนมาทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ได้ทุกวันอีกด้วย
• • •
สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่า งานในฝันของพนักงานจะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นคนสร้างมัน