หลักการพูดซึ่งประกอบไปด้วยการเตรียมการพูด การฝึกพูด และการปฏิบัติการพูดดังที่กล่าวไปแล้วนั้น คือหลักการพูดอย่างเป็นทางการในที่ประชุม หรือการพูดต่อหน้าชุมชนในโอกาสต่าง ๆ และเพื่อจุดหมายต่าง ๆ เป็นการพูดอย่างมีแบบแผน ส่วนการพูดในชีวิตประจำวันนั้นเป็นการพูดที่ไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่เป็นการพูดที่ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า เช่นการทักทาย ไต่ถามทุกข์สุข แนะนำตัว การตั้งคำถาม การตอบคาถาม การบอกเล่า การพูดโทรศัพท์ การกล่าวขอโทษ ขอบคุณ เป็นต้น
มีข้อแนะนำกว้าง ๆ เกี่ยวกับการพูดในชีวิตประจำวันคือต้องสุภาพ ให้เกียรติผู้ที่เราพูดด้วย มีคำลงท้าย ค่ะ/ครับ ที่เหมาะสม ไม่ละเลยที่จะกล่าวคำขอโทษ ขออภัย ขอบใจ ขอบคุณ หรือขอบพระคุณ ให้เหมาะสมกับบุคคล
การทักทาย นอกจากกล่าวคำ “สวัสดีค่ะ” “สวัสดีครับ” แล้วตามวัฒนธรรมไทยบางครั้งเราต้อง “ไหว้” ด้วย หากบุคคลนั้นมีอาวุโสกว่า หรือเป็นหัวหน้า เป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นครูอาจารย์ของเรา
การกล่าวคำ “สวัสดี” ต้องสุภาพ น้าเสียงนุ่มนวล การไหว้ ต้องไหว้อย่างตั้งใจ ไม่ใช่อย่างลวก ๆ ขอไปที เพราะถ้าทำเช่นนั้นการไหว้จะไม่มีคุณค่าใด ๆ เลย การกล่าวคำขอโทษ ขออภัย ขอบคุณ หรือขอบพระคุณ ก็เช่นเดียวกัน ต้องกล่าวอย่างตั้งใจ จริงใจ และนุ่มนวล ผู้ฟังจึงจะรับสารได้ตามที่เราต้องการสื่อสาร
ในกรณีที่เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ แล้วมีผู้กล่าวขอบคุณ เราอาจกล่าวตอบว่า “ไม่เป็นไร” ตามที่เราเคยกล่าวกันมา หรือในปัจจุบันมีผู้ใช้คำว่า “ด้วยความยินดีค่ะ/ครับ” ก็นับเป็นสำนวนที่น่านำมาใช้ เช่น เราช่วยเปิดประตูให้ ผู้เดินเข้ามากล่าวขอบคุณ เราอาจตอบว่า “ด้วยความยินดีค่ะ/ครับ” ซึ่งหมายความว่าเรายินดี หรือเต็มใจที่จะทำให้เขา นับเป็นสำนวนที่นุ่มนวลมีไมตรีจิต
ปัจจุบันการพูดโทรศัพท์ นับเป็นกิจกรรมการพูดที่สำคัญมากในชีวิตประจำวัน การพูดโทรศัพท์ทั้งสองฝ่ายได้ยินแต่เสียง ไม่เห็นหน้าผู้พูด น้ำเสียงนุ่มนวล ถ้อยคำสุภาพ ใช้ภาษาชัดเจน กระชับ เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราเป็นฝ่ายโทรศัพท์ไป เมื่อกล่าวคำสวัสดีแล้ว อาจแนะนำตัวเอง แล้วแจ้งความประสงค์ ถ้าผู้ที่เราต้องการติดต่อด้วยไม่อยู่ อาจฝากข้อความไว้ ก่อนวางสายอย่าลืมกล่าวคำขอบคุณและสวัสดี
ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายรับโทรศัพท์ ควรกล่าวคำสวัสดี แล้วบอกสถานที่ หรือหน่วยงาน ถ้าหากจะต้องไปตามบุคคลที่อีกฝ่ายต้องการจะพูดโทรศัพท์ด้วย ควรบอกว่า “กรุณารอสักครู่ค่ะ” และถ้าหากบุคคลนั้นไม่อยู่ เสนอแนะให้เลือกใช้สำนวนต่อไปนี้ตอบให้เหมาะสม เช่น “กรุณาติดต่อมาใหม่นะคะ” “จะฝากข้อความไว้ไหมคะ” “ถ้าท่านกลับมาจะให้เรียนท่านว่าอย่างไรค่ะ” หรือ “ขออภัยค่ะ จะให้เรียนท่านว่าใครโทรมาคะ” เป็นต้น และถ้ามีการฝากข้อความ การรับฝากข้อความก็ควรระบุชัดเจนว่า ถึงใคร จากใคร ข้อความคืออะไร ผู้รับโทรศัพท์คือใคร และอย่าลืมลงวันที่และเวลาที่รับโทรศัพท์ด้วย